ส้มแขก

ส้มแขกเป็นผลไม้ขนาดเล็กที่มีรสเปรี้ยว มักนิยมนำมาเพิ่มรสชาติให้กับอาหารจากทางภาคใต้ เช่น แกงส้ม ต้นยำ ปลาต้มเค็ม เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว นักวิจัยยังเชื่อกันอีกว่าส้มแขกอาจนำมาใช้ในการลดน้ำหนักและลดระดับไขมันได้ แต่ผลไม้ชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในด้านดังกล่าวจริงหรือไม่นั้น ศึกษาได้จากบทความนี้ สารสกัดจากเปลือกส้มแขกที่สำคัญ คือ กรดไฮดรอกซีซิตริก (Hydroxycitric Acid: HCA) ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันและลดความอยากอาหาร โดยจะไปยับยั้งเอนไซม์บางชนิดที่ร่างกายนำมาใช้ในการสร้างไขมัน อีกทั้งยังไปเพิ่มระดับของสารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนินซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกหิวน้อยลงได้

 

คุณประโยชน์ของส้มแขก

การบริโภคส้มแขกอาจส่งผลดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือมีเป้าหมายในการลดน้ำหนักและลดระดับไขมันในร่างกาย โดยมีการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนที่พิสูจน์สรรพคุณของส้มแขกในด้านต่าง ๆ ดังนี้

ลดน้ำหนัก
การลดน้ำหนักเกิดจากร่างกายสูญเสียไขมันซึ่งเป็นผลมาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร อาการเจ็บป่วย เป็นต้น แต่ในกรณีที่น้ำหนักลดลงมากเกินไปอาจทำให้ร่างกายสูญเสียโปรตีนและสารสำคัญอื่น ๆ ไปด้วย

เชื่อกันว่าส้มแขกมีคุณสมบัติในการลดน้ำหนัก จึงมีการศึกษาค้นคว้าโดยหนูทดลองกินสารสกัดจากส้มแขกในปริมาณ 400 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 10 สัปดาห์ แล้วพบว่า หนูมีน้ำหนักตัวและภาวะการอักเสบลดลง อีกทั้งยังมีความทนต่อน้ำตาลกลูโคสที่ดีขึ้นด้วย และยังมีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ชี้ให้เห็นอีกว่า กรดไฮดรอกซีซิตริกอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ ทั้งยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะช่วยยืนยันประสิทธิภาพของส้มแขก จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมกับคนโดยตรงในอนาคต

ลดระดับไขมัน
ไขมันเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย มักพบได้ในอาหารทั่วไป เช่น เนย น้ำมัน ถั่ว เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น โดยร่างกายของคนเราจำเป็นต้องได้รับไขมันในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากมีมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงมีการศึกษาทดลองในสัตว์เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ พบว่า สารสกัดจากส้มแขกอาจช่วยลดระดับไขมันในเลือดของหนูทดลองที่ถูกทำให้อ้วนจากอาหารที่มีไขมันสูง และลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้

แม้ข้อมูลข้างต้นแสดงให้ถึงสรรพคุณของส้มแขก  แต่งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษากับคนเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ชัดเจนก่อนการนำส้มแขกมาใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการรักษา ยิ่งไปกว่านั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดระดับไขมันได้ โดยควรหันมารับประทานผัก ผลไม้ หรือโอเมก้า 3 แทน และหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์โดยเฉพาะอาหารประเภททอด ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและไม่สูบบุหรี่

ทั้งนี้ ส้มแขกยังอาจนำมาใช้เพื่อการรักษาหรือป้องกันภาวะอื่น ๆ เช่น ปวดข้อ พยาธิหรือปรสิต โรคบิด เป็นต้น แต่ยังจำเป็นต้องมีงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสิทธิภาพหรือความปลอดภัยของส้มแขกหากต้องการใช้เป็นยารักษานั่นเอง

ความปลอดภัยในการบริโภคส้มแขก

แม้ส้มแขกจะมีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะอยู่เสมอ เนื่องจากการบริโภคผลิตภัณฑ์จากผลไม้ชนิดนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับตับได้ นอกจากนั้น ส้มแขกยังก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น

โดยผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ควรระมัดระวังในการใช้ส้มแขกเป็นยารักษาโรคเป็นพิเศษ

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร การบริโภคส้มแขกอาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกายของผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในปริมาณมากเพื่อใช้เป็นยารักษาโรค เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ
  • โรคไบโพลาร์ ส้มแขกอาจส่งผลให้ภาวะอารมณ์แปรปรวนจากโรคไบโพลาร์ทรุดหนักลง
  • โรคตับ การบริโภคส้มแขกอาจเป็นอันตรายต่อตับ อาจทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้นในผู้ป่วยโรคตับ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จากส้มแขกมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ จึงมีปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ก่อนมื้ออาหารเป็นเวลา 30-60 นาที 3 ครั้งต่อวัน อย่างไรก็ตาม ก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวควรศึกษาข้อมูลและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด และผู้บริโภคยังควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง หากบริโภคส้มแขกเพื่อหวังผลทางการรักษา

 

ส้มแขก ชื่อสามัญ Garcinia (การ์ซิเนีย), Malabar tamarind, Garcinia cambogia, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit

ส้มแขก ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia atroviridis Griff. ex T.Anderson จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)

สมุนไพรส้มแขก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีก เช่น ชะมวงช้าง, ส้มควาย (ตรัง), อาแซกะลูโก (ยะลา), ส้มพะงุน (ปัตตานี), ส้มมะอ้น ส้มมะวน มะขามแขก (ภาคใต้) เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งในบ้านเรานิยมปลูกมากในทางภาคใต้

ส้มแขก สามารถหาซื้อได้มากแถวภาคใต้ตอนล่าง ถ้าคุณมีโอกาสก็ลองไปเดินแถวตลาดนัด เขาจะขายกันแบบฝานเป็นชิ้นบาง ๆ เป็น ส้มแขกตากแห้ง โดยนำไปตากแห้งจนมีสีหมองดำ ๆ หมองคล้ำ ซึ่งสามารถเก็บเอาไว้ใช้ได้นานหลายเดือน โดยวิธีการนำไปใช้ก็ง่ายมาก ๆ เพียงแค่นำไปล้างน้ำให้สะอาดก็ใส่ลงไปในหม้อได้เลย เพียงไม่กี่กลีบก็จะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวแบบนุ่ม ๆ พร้อมให้กลิ่นหอมชวนน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น หรือจะนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน

ลักษณะของส้มแขก

  • ต้นส้มแขก ลักษณะของต้นส้มแขก เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกว้างสูงประมาณ 5-14 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็ง ลักษณะของเปลือกต้นหากเป็นต้นอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อลำต้นเป็นแผลจะมียางสีเหลืองออกมา
  • ใบส้มแขก เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร โดยใบแห้งจะมีสีน้ำตาล
  • ดอกส้มแขก ออกตามปลายยอด ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ด้านในสีแดง ด้านนอกมีสีเขียว มีเกสรเพศผู้เรียงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวแทงออกจากปลายกิ่ง มีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่มีรูปทรงกระบอก
  • ผลส้มแขก ลักษณะของผลส้มแขกเป็นผลเดี่ยว ผิวเรียบสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแก่ มีขนาดใกล้เคียงกับผลกระท้อน เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล มีประมาณ 8-10 ร่อง ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ เนื้อแข็งมีรสเปรี้ยวจัด ในผลมีเมล็ดแข็ง 2-3 เมล็ด

 

ผลส้มแขกมีรสเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ ต้มปลา เพื่อให้มีรสเปรี้ยว หรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน ทำเป็นเครื่องดื่มลดความอ้วน โดยการรับประทานส้มแขกในระยะแรกอาจจะทำให้รู้สึกหิวบ่อยมากขึ้น เนื่องจากไปเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร โดยร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวไปเอง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ ระหว่างนี้ก็ให้ดื่มน้ำมาก ๆ หากรับประทานไปนาน ๆ ก็จะช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกไม่หิวได้ และเมื่อหยุดรับประทานส้มแขก ร่างกายจึงไม่กลับมาอ้วนอีกแน่นอน และที่สำคัญก็คือไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประเมินผลและพบว่า ไม่มีการเปลี่ยนของหน้าที่ของตับและไต รวมไปถึงระดับน้ำตาลในเลือดและความดันเลือดก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

 

ส้มแขก มีสารสำคัญที่มีชื่อว่า Hydroxycitric Acid หรือเรียกสั้น ๆว่า "HCA" ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการสร้างไขมันจากการบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง นอกจากนี้ยังมีกรดอินทรีย์อื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น กรดซิตริก (Citric Acid), กรดโดคีคาโนอิค (Dodecanoic Acid), กรดออกตาดีคาโนอิค (Octadecanoic acid) และกรดเพนตาดีคาโนอิค (Pentadecanoic acid)

ในปัจจุบันส้มแขกได้มีการนำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 300-600 มิลลิกรัม และจะมีเนื้อส้มแขกประมาณ 250-500 มิลลิกรัม และมีปริมาณ HCA ประมาณ 60-70% โดยจะแตกต่างกับส้มแขกบดแห้งบรรจุแคปซูลธรรมดาที่ไม่ได้ผ่านการสกัด ซึ่งจะมีปริมาณของ HCA เพียง 30% เท่านั้น โดยวิธีการรับประทาน สารสกัดส้มแขก ให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงครั้งละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม (ถ้าเม็ดละ 300 mg. ก็ใช้ 3-4 เม็ด) วันละ 3 ครั้งจะช่วยทำให้ยาดูดซึมได้ดีที่สุด

คำแนะนำ : สำหรับผลิตภัณฑ์สารสกัดส้มแขกมีปริมาณ HCA ที่สูง ไม่ควรใช้กับสตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร เพราะสารชนิดนี้จะไปรบกวนการสร้าง Fatty Acid, Acetyl coenzyme A รวมไปถึง Cholesterol ซึ่งอาจส่งผลต่อการสร้าง Steroid Hormone ได้นั่นเอง และสำหรับบุคคลทั่วไปการรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจมีอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้

สรรพคุณของส้มแขก

  1. ช่วยแก้อาการไอ (ดอก)
  2. ใช้เป็นยาขับเสมหะ (ดอก)
  3. ผลแก่นำมาใช้ทำเป็นชาลดความดันได้ หรือจะใช้ดอกก็ได้ (ผลแก่, ดอก)
  4. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ (อัตราส่วน 7 ดอก : น้ำ 1 ลิตร) เติมน้ำครั้งที่สองใส่ดอก 3 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร โดยไม่ต้องทิ้งดอกที่ต้มในครั้งแรก แล้วนำมาดื่ม (ดอกตัวผู้)
  5. ใช้เป็นยาสมุนไพรช่วยฟอกโลหิต
  6. ใช้ทำเป็นยาแก้กระษัย ด้วยการนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู (ราก)
  7. ตำรายาพื้นบ้านใช้ส้มแขกทำเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์
  8. ส้มแขกมีสรรพคุณใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
  9. ใบสดน้ำมารับประทานช่วยแก้อาการท้องผูก (ใบ)
  10. มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ
  11. รากใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว ด้วยการนำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำผสมกับรากมังคุดและรากจูบู (ราก)
  12. ผลส้มแขกมีสรรพคุณช่วยลดความอยากอาหาร ความรู้สึกหิวอาหาร
  13. ช่วยเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร
  14. ช่วยดักจับแป้งและไขมันจากอาหารที่รับประทานเข้าไป
  15. สารสกัดจากส้มแขกช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้นและขับไขมันออกมา
  16. ส้มแขกลดน้ําหนัก เนื่องจากผลส้มแขกมีกรดมีกรดไฮดรอกซีซิตริก (HCA) มีสรรพคุณในการช่วยลดน้ำหนักและช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้
  17. มีคุณสมบัติช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต (อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล) ไม่ให้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้ แต่จะนำไปเป็นพลังงานให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย
  18. ส้มแขกลดความอ้วน ช่วยกระตุ้นให้มีการดึงเอาไขมันที่สะสมในร่างกายออกมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้ไขมันที่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลงอย่างช้า ๆ ประมาณ 1 กิโลกรัมภายใน 3-4 อาทิตย์
  19. ใบแก่นำมาทำเป็นชาได้ แต่จะมีกลิ่นเหม็นเขียว (ใบแก่)
  20. ใบอ่อนส้มแขกใช้รองนึ่งปลา (ใบอ่อน)
  21. ประโยชน์ส้มแขก ผลสดใช้ทำแกงส้ม
  22. ประโยชน์ของส้มแขก ผลใช้ปรุงรสอาหารด้วยการนำมาผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาเยื่อและเมล็ดออก นำมาตากแห้งแล้วนำมาใช้ปรุงรสอาหารให้มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มปลา ต้มเนื้อ แกงส้ม หรือใช้ทำน้ำแกงขนมจีน เป็นต้น หรือจะใช้ใบแทนผลก็ให้รสเปรี้ยวได้เช่นกัน (ผล, ใบ)
  23. มีการใช้ใบแก่ของส้มแขกมาผสมกับยางพารา เพื่อใช้ทำปฏิกิริยาให้น้ำยางพาราแข็งตัวเร็วขึ้น ด้วยการใช้ใบแก่ประมาณ 2 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 10 ลิตรแล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วค่อยนำมาผสมกับยางพารา (ใบแก่)
  24. ลำต้นส้มแขกแก่ ๆ (อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป) สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเป็นไม้แปรรูปใช้ในการก่อสร้างได้ (ลำต้น)
  25. มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย เช่น ชาส้มแขก น้ำส้มแขก ส้มแขกกวน แคปซูลส้มแขก ฯลฯ

แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เว็บไซต์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)

ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com (GEORGE)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)


  • 59.jpg
    ใบย่านาง สมุนไพรโบราณสุดมหัศจรรย์ที่เปี่ยมสรรพคุณทางยา และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ย่านาง เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่โบราณในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการนำมาทำอาหารหลากหลายชนิด ซึ่...

  • 21.jpg
    เตย หรือ เตยหอม ชื่อสามัญ Pandan leaves, Fragrant pandan, Pandom wangเตย ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus amaryllifolius Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odorus Ridl.) จัดอยู่ในวงศ์เตยท...

  • 6f21d3fd-8d44-89df-cb4a-5c08ee1e1c46.jpg
    ใบบัวบก บัวบก ชื่อสามัญGotu kola บัวบก ชื่อวิทยาศาสตร์Centella asiatica (L.) Urb. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAEหรือUMBELLIFERAE) สมุนไพรบัวบกมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักหนอก (ภาคเหน...

  • 2.jpg
    เสลดพังพอนตัวเมีย เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อสามัญSnake Plant[8] เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clinacanthus burmanni Nees, ...

  • 2.jpg
    มะพร้าว ผลไม้ที่กล่าวกันว่ามีสรรพคุณทางการรักษานานัปการ ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันคอเลสเตอรอล ป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำจากการถ่ายท้องหรือออกกำลังกาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ...

  • 3.jpg
    ขมิ้นหรือขมิ้นชันชื่อสามัญ Turmeric ขมิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์Curcuma longa L. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) ขมิ้นเป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในตระกูลขิง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้า...

  • 3.jpg
    ไพลหรือว่านไพลชื่อสามัญ Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root สมุนไพรไพลมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปูขมิ้น มิ้นสะล่าง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), ว่านไฟ ไพลเหลือง (ภาคกลาง), ปูเลย ปูลอย (ภาคเห...

  • 3.jpg
    มะขามแขก ชื่อสามัญAlexandria senna, Alexandrian senna, Indian senna, Tinnevelly senna มะขามแขก ชื่อวิทยาศาสตร์Senna alexandrina Mill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia angustifolia M.Vah...

  • 1.png
    ไซเลี่ยม ฮัสค์ (Psyllium Husk)คือใยอาหารอาหารชนิดละลายน้ำได้ (Soluble Fiber) DETOX ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ไม่ให้พลังงาน ไม่มีน้ำตาล ไม่มีไขมัน มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ...
Visitors: 409,819